หัวข้อข่าว
        กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดประชุมวิชาการพรรณพฤกษชาติประเทศไทยที่สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ โดยมีนักพฤกษศาสตร์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ เข้าร่วมรับเสด็จฯ และนำเสนอผลงานทางวิชาการ
รายละเอียด
       
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand conference) ครั้งที่ 18 ณ สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายเคนเนท เออร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งพระองค์ท่านทรงให้ความสนพระราชหฤทัยและสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านอนุกรมวิธานมาโดยตลอด โครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand project) เป็นโครงการวิจัยระดับนานาชาติ ที่ศึกษาและตีพิมพ์หนังสือด้านพฤกษอนุกรมวิธานหลักของประเทศ มีเป้าหมายสำคัญในการศึกษาและทบทวนพรรณพืชที่มีท่อลำเลียง (Vascular plants) ของประเทศไทยซึ่งมีอยู่กว่า 10,000 ชนิด เพื่อเป็นข้อมูลในการใช้บริหารจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืชของประเทศไทย ให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป โครงการดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยความร่วมมือระหว่างนักพฤกษศาสตร์ไทยและเดนมาร์ก และมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นหน่วยงานหลัก มีนักพฤกษศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย ทั้งชาวไทยและต่างประเทศจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทั้งจากมหาวิทยาลัย และสวนพฤกษศาสตร์ ทั้งนี้การประชุมวิชาการระดับนานาชาติของโครงการฯ จะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี หมุนเวียนไปในหลายประเทศ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 18 จัดขึ้น ณ สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ มีนักพฤกษศาสตร์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ เข้าร่วมรับเสด็จฯ และนำเสนอผลงานทางวิชาการ 2 ท่าน ได้แก่ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน นักพฤกษศาสตร์ และ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งเข้าร่วมงานในฐานะคณะกรรมการกองบรรณาธิการของโครงการฯ (Editorial Board) และผู้นำเสนอผลงานฯ และอีกท่านหนึ่งที่ร่วมนำเสนอผลงานฯ คือ นางสาววิรตา รุจิชัยพิมล นักอนุกรมวิธานพืช สำนักวิจัยและอนุรักษ์ โดยทั้งสองได้เสนอผลงานศึกษาวิจัยเรื่อง Impatiens of Thailand: the final episode และ A taxonomic revision of Dendrobium sect. Pedilonum (Orchidaceae) in Thailand ตามลำดับ ปัจจุบันทางโครงการฯ ได้ตีพิมพ์พรรณไม้ของไทยไปแล้ว 222 วงศ์ คิดเป็นร้อยละ 80 และคาดว่าจะสิ้นสุดโครงการได้ในปี พ.ศ.2567 โดยการประชุมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในประเทศเดนมาร์ค และจะมีการประชุมเพื่อปิดโครงการครั้งสุดท้ายในประเทศไทย