หัวข้อข่าว
        31 ปีแห่งการสถาปนาองค์การสวนพฤกษศาสตร์
รายละเอียด
       
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) องค์กรของประเทศที่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการด้านสวนพฤกษศาสตร์ เป็นสถาบันทางวิชาการด้านพืชที่รวบรวมพันธุ์พืชอย่างเป็นระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัย อนุรักษ์ จัดแสดงและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่สาธารณชน และถือได้ว่าสวนพฤกษศาสตร์ เป็นดัชนีชี้วัดความเจริญของประเทศ ตลอดระยะเวลา 31 ปี องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) ได้มีการรวบรวมพันธุ์ไม้มีชีวิต มากกว่า 5,300 ชนิดในจำนวนนี้ เป็นพืชหายาก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของประเทศ 565 ชนิด พืชวงศ์กล้วยไม้ 630 ชนิด พืชวงศ์ขิงข่า 305 ชนิด พืชสมุนไพร 470 ชนิด มีการรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้ง สำหรับการศึกษาวิจัยและการอ้างอิงทางพฤกษศาสตร์ ในหอพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จำนวนมากกว่า 128,786 ตัวอย่าง (จัดจำแนกใน 337 วงศ์ 2,984 สกุล 14,578 ชนิด) ครอบคลุมชนิดพันธุ์พืชของประเทศมากกว่าร้อยละ 90 โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลพรรณไม้ผ่านทางเว็บไซต์ และได้มีการรวบรวมและบำรุงรักษาพันธุ์พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นำกลับไปจัดปลูกในถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติร่วมกับเครือข่ายในชุมชม ในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์สาขาในสังกัด อ.ส.พ. ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ สวนพฤกษศาสตร์ระยอง สวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น และสวนพฤกษศาสตร์พระแม่ย่า สุโขทัย รวมทั้งสิ้น 51 ชนิด นอกจากนี้ ยังได้มีการรวบรวม จัดทำตัวอย่างแมลง เพื่อการศึกษาวิจัยและการอ้างอิง จำนวน 172,368 ตัวอย่าง 2,040 ชนิด อ.ส.พ. ได้มีการดำเนินงานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ และงานวิจัยเพื่อการพัฒนา โดยนักอนุกรมวิธาน อ.ส.พ. ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกและตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัย 63 ชนิด อาทิเช่น โสกเหลืองแม่เมย กระเจียวอรุณ ช่อม่วงพิทักษ์ กระเจียวลำปาง กระเจียวสรรพศรี กระเจียวสุพรรณ กะพ้อเขาจันทร์ ประทัดสุเทพ ก้ามกุ้งภูวัว เอื้องศรีเชียงดาว กระเจียวงาม ก้านดำใบงาม ก้านดำทองแถม เปราะภูแม่ฮ่องสอน ชมพูสิริน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพพืชพื้นเมืองของไทย อาทิ พืชสกุลมหาหงส์ มะเดื่อหว้า ซ้อ อูนป่า ตะไคร้ต้น คำมอกหลวง ดาหลาฯลฯ นำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์บนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยมีการจดอนุสิทธิบัตร จำนวน 9 อนุสิทธิบัตร จดทะเบียนกล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ 6 สายพันธุ์ ใน Royal Horticultural Society รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ และความหลากหลายทางชีวภาพ (MOU) ในประเทศ 42 ฉบับ และต่างประเทศ 15 ฉบับ