หัวข้อข่าว
        สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอีก 6 สถาบันวิจัยใน 4 ประเทศของกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนเปิดตัวโครงการ “Sustainable consenvation and value adding locally edible floral species in the Mekong regions”
รายละเอียด
       
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอีก 6 สถาบันวิจัยใน 4 ประเทศของกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนเปิดตัวโครงการ “Sustainable consenvation and value adding locally edible floral species in the Mekong regions” ภายใต้ “กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง” มุ่งเพิ่มมูลค่าจากดอกไม้บริโภคได้ วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.รัชชุพร สุขสถาน ดร.ประทีป ปัญญาดี นักวิชาการพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ร่วมพิธีเปิดตัวและลงนามการดำเนินโครงการ “Sustainable consenvation and value adding locally edible floral species in the Mekong regions” หรือ “การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และการเพิ่มมูลค่าให้แก่ดอกไม้บริโภคได้พื้นถิ่นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งเป็น 1 ในโครงการของทุนวิจัยภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง หรือ Lancang-Mekong Cooperation Special Fund ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และอีก 6 สถาบันวิจัยใน 4 ประเทศของกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า จัดทำความร่วมมือด้านงานวิจัยและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชบริโภคได้ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน เพื่อทำการรวบรวมชนิดพืช และองค์ความรู้พื้นถิ่นของภูมิภาคที่กำลังจะสูญหาย ตลอดจนการวิเคราะห์หาองค์ประกอบเชิงหน้าที่ และหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าจากดอกไม้บริโภคได้ ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง- ล้านช้าง ประจำปี 2565 สาธารณรัฐประชาชนจีน กว่า 13 ล้านบาท โอกาสนี้ ดร.รัชชุพรฯ และดร. ประทีปฯ ได้มอบของที่ระลึกให้แก่ Ms.Zhang Yajing ผู้อำนวยการสถานกงสุลใหญ่ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และ ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ดอกไม้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพหุวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งดอกไม้พื้นถิ่น นอกจากให้สีสันที่สวยงาม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามฤดูกาลแล้ว หลายชนิดยังให้กลิ่นหอมเฉพาะตัว และถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของอาหาร และยา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์พื้นถิ่นเฉพาะหรือมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างวัฒนธรรมมาช้านาน อย่างไรก็ตาม การบันทึกหลักฐานทางด้านพฤกษศาสตร์ของดอกไม้บริโภค ตลอดจนข้อมูลทางโภชนาการ และสารออกฤทธิ์สำคัญทางชีวภาพที่มาจากดอกไม้เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีความจำเพาะต่อสังคมวัฒนธรรมยังมีอยู่น้อยมาก หากนักวิจัยไม่ทำการศึกษา รวบรวม และต่อยอดงานวิจัย อาจจะทำให้สูญเสียมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจไปจำนวนมหาศาล