หัวข้อข่าว
        คณะนักวิจัยในโครงการการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนและการเพิ่มมูลค่าให้แก่ดอกไม้บริโภคพื้นถิ่น ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงเข้าศึกษาดูงานสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
รายละเอียด
       
วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ดร.ปรัชญา ศรีสง่า หัวหน้าส่วนหอพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ พร้อมด้วย ดร.รัชชุพร สุขสถาน ดร.ประทีป ปัญญาดี ดร.วัฒนา ตันมิ่ง นักวิชาการพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ นางรัชฎาวรรณ พวงประดับ นักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ และทีมบุคลากรจากกลุ่มงานวิจัยเพื่อการพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ สำนักวิจัยและอนุรักษ์ ให้การต้อนรับ นักวิชาการนักวิจัยจากโครงการ “การอนุรักษ์อย่างยั่งยืนและการเพิ่มมูลค่าให้แก่ดอกไม้บริโภคได้พื้นถิ่นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง” ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี2565 ซึ่งคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และ 6 สถาบันวิจัยใน 4 ประเทศ ของกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมสำรวจวิจัยศึกษาและเผยแพร่ความรู้เรื่องดอกไม้บริโภคได้พื้นถิ่นกับประเทศเครือข่ายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง อีกทั้งหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าจากดอกไม้บริโภคและร่วมมือกันพัฒนาสินค้าจากดอกไม้บริโภคต่อไป ในการนี้ คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มงานวิจัยเพื่อการพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ กลุ่มงานวิจัยพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน หอพรรณไม้ ห้องปฏิบัติการพฤกษเคมี ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ กลุ่มอาคารเรือนกระจกเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์เกษตรอินทรีย์และ Canopy Walks เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ภายในสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ โอกาสนี้ ดร.รัชชุพร สุขสถาน ได้นำเครื่องดื่มจากดอกไม้ฤดูร้อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากงานวิจัยขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ มาจัดแสดงและเป็นเครื่องดื่มสำหรับรับรองคณะฯ โดยเครื่องดื่มจากดอกไม้ฤดูร้อนประกอบด้วยดอกไม้ที่บานในฤดูร้อนคือ ดอกซ้อ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสารกลุ่ม ฟลาโวนอยด์และฟินอลิก ผสมกับรากชะเอมเทศที่มีรสหวานทำให้ชุ่มคอ แก้อาการไอและขับเสมหะ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ นอกจากนี้ยังได้นำผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากงานวิจัยขององค์การสวนพฤกษศาสตร์หลากหลายผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงและบรรยายพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรพันธุ์พืชและภูมิปัญญาท้องถิ่นกับกลุ่มคณะนักวิจัยจาก 6 สถาบันในครั้งนี้ด้วย