หัวข้อข่าว
        ผอ.อ.ส.พ. ร่วมรับมอบนโยบายจาก รมว.ทส. ในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง เน้นย้ำมาตรการ “ตรึงพื้นที่ ให้มีจุดเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในทุกพื้นที่ป่า
รายละเอียด
       
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ปวิช เฉลิมวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ เข้าร่วมรับมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง จากพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยม มอบนโยบาย ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด เร่งรัดการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า สถานการณ์ปี 2566 เกิดฝุ่น PM2.5 และจุดความร้อนมีปริมาณสูงกว่าปีที่ผ่านมา และในปี 2567 คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง มีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวที่จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน จึงได้ตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคนที่ 2 และเร่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับพื้นที่เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่งหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรับสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมระดมความร่วมมือจากหน่วยงาน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด เพื่อดำเนินมาตรการป้องกัน ลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นที่คาดว่าจะรุนแรงได้อย่างทันท่วงที พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงาน ได้เน้นย้ำให้เกิดการสื่อสารในทุกระดับของภาครัฐโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานต้องเข้าใจแนวทางปฏิบัติที่จะควบคุมให้ลดการเผาไหม้ทั้งในพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก ในส่วนของพื้นที่ป่า จะมุ่งเป้าไปที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีสถานการณ์ไฟป่ารุนแรงโดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมาตรการป้องกันไฟป่า เน้นย้ำมาตรการ “ตรึงพื้นที่ ให้มีจุดเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในทุกพื้นที่ป่า เราจะมีการจัดระเบียบการเก็บหาของป่าโดยอนุญาตเฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น โดยผ่านการลงทะเบียนรายบุคคล ในพื้นที่และปิดป่าเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง” โดยก่อนห้วงฤดูไฟป่าให้มีการจัดการเชื้อเพลิงในห้วงเวลาที่เหมาะสม ให้ตั้งจุดเฝ้าระวังเพื่อกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จะต้องมี จุดตรวจ/จุดสกัด เพื่อมิให้เกิดการลักลอบเผาป่า เมื่อเข้าห้วงสถานการณ์ฤดูไฟป่าจะต้องมีผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ในระดับพื้นที่ มีกำลังพล และเครื่องมือพร้อมปฏิบัติในการดับไฟป่าและสามารถสับเปลี่ยนกำลังระดมพลช่วยกันดับไฟป่าได้อย่างทันท่วงทีโดยผ่าน war room ระดับพื้นที่ และดึงหมู่บ้านเครือข่ายดับไฟป่า (อาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช : อส.อส.) มาร่วมในการดับไฟป่าด้วย โดยมีเป้าลดพื้นที่ไฟไหม้ลดลง 50 % จากปี พ.ศ.2566 นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าฝุ่นสูงจนระดับวิกฤต คือ หมอกควันข้ามแดน จึงสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ประสานงานและเจรจา ขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในระดับอาเซียน และระดับพหุภาคี เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเต็มที่ การแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นต้องทั่วถึง ทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง พล.ต.อ. พัชรวาท ยังได้ตรวจความพร้อมของหน่วยงานทุกหน่วยปฏิบัติการ และกล่าวขอบคุณพร้อมให้กำลังใจกำลังพลและเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและ PM2.5 ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และยังได้แสดงความชื่นชมทุกในการเสียสละแรงกาย และแรงใจ เพื่อชาติ บ้านเมือง และประชาชน โดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและ PM2.5 อย่างเต็มที่