ติดต่อการดูงาน เยี่ยมชมสวนฯ ติดต่องานบริการนักท่องเที่ยว
โทรศัพท์
- 053-114633 , 09-3130-0668
เบอร์มือถือ 09-3130-0668
+09-3130-0668
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (ชื่อย่อ : อ.ส.พ.) เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พ.ศ. 2535 เพื่อดำเนินงานด้านสวนพฤกษศาสตร์ การศึกษาค้นคว้าวิจัยและรวบรวมข้อมูลทางด้านพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย โดยเป็นการโอนภารกิจของสวนพฤกษศาสตร์ภาคเหนือ ฝ่ายพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาดำเนินการ. Read More
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 5 รอบของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พ.ศ.2535 โดยมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอน 40 ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2535 โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็น ผู้กำกับดูแลและวางนโยบายร่วมกับคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ให้องค์การมีความก้าวหน้าในระดับนานาชาติให้ประเทศไทยมีสวนพฤกษศาสตร์ที่ได้ระดับมาตรฐานสากล และเป็นสถานที่เชิดชูความงามและคุณค่าพรรณไม้ไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก
ในปี พ.ศ. 2537 ทางองค์การฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระราชทาน พระราชานุญาต จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์ในภาคเหนือขององค์การฯ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” Queen Sirikit Botanic Garden ในปี พ.ศ.2545 รัฐบาลมีนโยบายในการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยนำหน่วยงานราชการที่มีภารกิจคล้ายคลึงกันไว้ในหน่วยงานเดียว องค์การสวนพฤกษศาสตร์จึงได้โอนย้ายจากสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 102 ก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2545
ในปี พ.ศ. 2537 ทางองค์การฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระราชทาน พระราชานุญาต จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์ในภาคเหนือขององค์การฯ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” Queen Sirikit Botanic Garden ในปี พ.ศ.2545 รัฐบาลมีนโยบายในการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยนำหน่วยงานราชการที่มีภารกิจคล้ายคลึงกันไว้ในหน่วยงานเดียว องค์การสวนพฤกษศาสตร์จึงได้โอนย้ายจากสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 102 ก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2545
สวนพฤกษศาสตร์ระยอง ตั้งอยู่ที่ ม.2 ตำบลซากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ดำเนินการบนพื้นที่ 831 ไร่ ก่อตั้งโดยองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งได้เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรพืชในแต่ละภูมิภาคของประเทศที่มีความแตกต่างกัน จึงมีนโยบายที่จะจัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้ประจำแต่ละภูมิภาค อย่างน้อยภาคละ 1 แห่ง สำหรับภาคตะวันออก จังหวัดระยองได้ประสานความร่วมมือกับองค์การฯ และหน่วยงานท้องถิ่น ได้ร่วมทำการสำรวจพื้นที่บึงสำนักใหญ่ (หนองจำรุง) ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,800 ไร่ ในการนี้ ทางจังหวัดระยอง และประชาชนในท้องถิ่น เห็นชอบให้องค์การฯ ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ในเบื้องต้น ประมาณ 831 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อพัฒนาจัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออก ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และให้บริการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและผู้มาเยี่ยมชม เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำและพรรณไม้ท้องถิ่นร่วมกันให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ทรัพยากรพรรณพืชของประเทศ ได้รับการดูแล และสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต่อมาผู้นำท้องถิ่นและประชาชน ได้เห็นพร้องกันที่จะอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญของประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดระยอง จึงได้เสนอยกระดับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ ให้มีความสำคัญในระดับชาติ ตามประกาศคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ซึ่งมีข้อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติที่ชัดเจน ในปี พ.ศ. 2553 คณะกรรมการองค์การฯ ได้มีมติเปลี่ยนชื่อศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออก จังหวัดระยองเปลี่ยนชื่อมาเป็น สวนพฤกษศาสตร์ระยอง จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เนื่องจากสวนพฤกษศาสตร์นั้นนานาอารยะประเทศให้ความสำคัญ และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์ทรัพยากรพืช ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ภายในพื้นที่ชุ่มน้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของแต่ละประเทศ และในปัจจุบันสังคมกลุ่มนิเวศป่าเสม็ดขาว สวนพฤกษศาสตร์ระยอง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดินประจำปี 2562 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
สวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 บนพื้นที่ 72-1-62 ไร่ ในพื้นที่ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น โดยมีภารกิจหลักในการเป็นแหล่งรวบรวม อนุรักษ์พืชสมุนไพรอีสาน พืชนิเวศเขาหินทราย การใช้ประโยชน์พืชจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน รวบรวมพืชหายากและข้อมูลพรรณพืชที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจของเยาชนและประชาชน ปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูระงำ เพื่อจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น ท้องที่ตำบลโนนทอง อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ 1,662-1-29 ไร่ เพื่อจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น แห่งใหม่
สวนพฤกษศาสตร์พระแม่ย่า สุโขทัย ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 โดยเข้าดำเนินการ ณ ริมทุ่งทะเลหลวง ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย บนพื้นที่ 276-1-18 ไร่ โดยมีการดำเนินงานมุ่งเน้นรวบรวม ขยายพันธุ์ อนุรักษ์พืชวัฒนธรรมสุโขทัย โดยเฉพาะบัวและกล้วย รวบรวมความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และการใช้ประโยชน์พืชจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เผยแพร่ความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านพืชแก่เยาวชนและประชาชน รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการแก่สาธารณชน
สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ ม.8 ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ดำเนินการ 1,582 ไร่ ในอดีตบริเวณพื้นที่ตั้ง สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ เคยเป็นสมรภูมิรบโดยการรบครั้งนั้นทหารไทย และลาวมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือด จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการสู้รบ นั่นคือ "หลุมบังเกอร์" ที่พบอยู่ในบริเวณพื้นที่นี้ ซึ่งการรบครั้งนั้นถูกเรียกว่า "สมรภูมิรบบ้านร่มเกล้า" ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การดำเนินงานของโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก จึงทรงมีพระราชดำริให้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี (ในสมัยนั้น) จัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้บ้านร่มเกล้า ในพระราชดำริฯ ในพื้นที่ส่วนปลายของเทือกเขาภูสอยดาว ณ บริเวณป่าบ้านร่มเกล้า ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ให้มีลักษณะเช่นเดียวกับสวนพฤกษศาสตร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงภายในประเทศ และเป็นการอนุรักษ์ป่าที่สมบูรณ์ไว้เพื่อเป็นป่าต้นน้ำลำธาร รวมทั้งสนับสนุนราษฎรบ้านร่มเกล้าและหมู่บ้านข้างเคียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาสถานที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ โดยมีเป้าหมายในการเป็นแหล่งอนุรักษ์พืชพื้นที่สูง แหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ของภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการบริหารจัดการเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มีภารกิจในการออกสำรวจและรวบรวมพืชหายาก พืชประจำถิ่น และพืชเสี่ยงสูญพันธุ์ สำหรับการอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย รวมถึงนำมาเพาะขยายเพิ่มจำนวน สำหรับการปล่อยคืนสู่พื้นที่อาศัยเดิม และเผยแพร่ความรู้โดยการจัดค่ายฝึกอบรมทางพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ การขยายพันธุ์กล้วยไม้ การเก็บตัวอย่างพรรณไม้ สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ท่ามกลางขุนเขาแมกไม้สายหมอก ที่มีความหลากหลายของพรรณพืช มีโรงเรือนจัดแสดงกล้วยไม้ รวบรวมกล้วยไม้ไทยกว่า 300 ชนิด เช่น ว่านเพชรหึง กล้วยไม้ดง รวมทั้งกล้วยไม้ต่างประเทศ เช่น เพชรหึงฟิลิปปินส์ และกล้วยไม้ลูกผสมต่างๆ โรงเรือนกุหลาบพันปีและพืชกลุ่มเฟิน พืชวงศ์กุหลาบ สร้อยสยาม พืชถิ่นเดียวของจังหวัดพิษณุโลก และพืชในท้องถิ่น อาทิ ค้อ ระฆังทอง พันธุ์ไม้ตระกูลปีบที่อวดดอกสีเหลืองสวยงามตลอดทั้งปีรวมทั้งสวนกุหลาบและแมกโนเลีย นอกจากนี้ในพื้นที่สวนฯ มีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ ลานกิจกรรม และห้องน้ำให้บริการ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาสัมผัสธรรมชาติและชมทัศนียภาพที่สวยงามตลอดทั้งปี ฤดูร้อนจะพบกล้วยไม้เขตร้อน กุหลาบพันปี จำปี-จำปา และกระดังงาชนิดต่างๆ ฤดูฝนจะได้ความเขียวขจี กระเจียวชนิดต่างๆ และทะเลหมอก ส่วนฤดูหนาวจะได้สัมผัสอากาศหนาว ดูดาว ชมความงามกล้วยไม้เขตหนาว สวนกุหลาบ และสร้อยสยาม